วันอังคารที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2554

จัดสวนสไตล์ญี่ปุ่น : สวนที่ราบ

สวนญี่ปุ่น สไตล์นี้ เป็นสวนที่จัดขึ้นบนพื้นที่ราบ ปราศจากภูเขา/เนินดิน และสระน้ำเป็นเครื่องตกแต่ง ค่ะ สวนแบบนี้เหมาะกับบริเวณที่มีพื้นที่จำกัด เพราะไม่นิยมปลูกต้นไม้มากจะมีบ้างก็น้อยต้น ถ้าเป็นต้นใหญ่มักจะมีกิ่งก้านโปร่ง ส่วนไม้พุ่มจะตัดแต่เป็นพุ่มกลมให้กลมกลืนกับก้อนหิน สวนแบบนี้เดิมทีเดียวนิยมจัดในบริเวณลานวัด ซึ่งมีกำแพงเป็นฉากหลัง แต่ต่อมาได้มีผู้นำแบบอย่างไปจัดในบริเวณบ้านหรือที่พักอาศัยอย่างกว้างขวาง

สวนในที่ราบ จัดแต่งตามแนวคิดของพระสงฆ์ในศาสนาพุทธนิกายเซน ซึ่งยึดมั้นในความสงบสันโดษค่ะ เป็นสวนแบบจินตนาการหรือเป็นสวนแห่งการสมมุติเคลือบแฝงด้วยปรัชญา ผู้จัดจะต้องใช้จินตนาการในการวางก้อนหิน,ปลูกต้นไม้และในการวาดลวดลายลงบน พื้น ทรายหรือกรวดให้มองแล้วเหมือนลูกคลื่นหรือระลอกน้ำในทะเลหรือในมหาสมุทร

สวนในที่ราบ แบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกันนะคะ นั่นก็คือ
                                 
1. สวนในที่ราบแบบเขียวชอุ่ม (Evergreen gardens)
        
จะประกอบด้วยพื้นที่ราบเรียบ ปกคลุมด้วยหญ้าหรือมอสสีเขียวขจีสมมุติว่าเป็น "น้ำ" อาจเป็นทะเลหรือมหาสมุทร มีต้นไม้และก้อนหินรวมกันเป็นกลุ่ม ๆ สมมุติว่าเป็น "เกาะ" ต้นไม้ใหญ่มีน้อยต้น และมักจะมีกิ่งก้านโปร่ง ส่วนพุ่มมักจะตัดแต่งให้เป็นรูปทรงกลมเพื่อให้กลมกลืนกับก้อนหิน ส่วนประกอบอื่น ๆ ได้แก่ ตะเกียงหิน อ่างน้ำ แผ่นทางเดิน มีรั้วลักษณะโปร่งเป็นฉากหลัง เพื่อใช้ประดับและแบ่งขอบเขตของสวน บางแห่งอาจมีบ่อน้ำซึ่งแต่เดิมมีไว้ใช้เพื่อประโยชน์ใช้สอย





สวน ในที่ราบแบบนี้นิยมจัดไว้ที่มุมใดมุมหนึ่งใกล้ ๆ เรือนน้ำชาหรือบ้านพักเพื่อใช้น้ำในอ่างล้างมือ ล้างหน้าหรือล้างเท้าก่อนขึ้นบ้าน แต่ในปัจจุบันมิได้ใช้ประโยชน์เพียงแต่มีไว้เพื่อเป็นการประดับเท่านั้น

2. สวนในที่ราบแบบแห้ง (Dry landscape gardens)
        
สวนชนิดนี้สร้างตามปรัชญาของนักบวชนิกายเซนในบริเวณลานวัดเพื่อทำสมาธิ พิจารณาความสงบทางจิต เพ่งพิจารณารูปธรรม(สิ่งที่มีรูป) ของสรรพสิ่งที่มีชิวิตหรือสิ่งที่ไร้วิญญาณมาสู่นามธรรม(สิ่งที่ไม่มีรูป รู้ได้ทางใจ)



        
สวนแบบนี้มีพื้นที่ราบเรียบโรยด้วยทรายหรือกรวด สมมุติว่าเป็น "น้ำ" และมีก้อนหินวางไว้เป็นกลุ่ม ๆ สมมุติว่าเป็น "เกาะ" มีกำแพงหรือบ้านเป็นฉากหลังกรวดหรือทรายที่ราบเรียบอาจใช้ไม้ปลายแหลมขีด เป็นเส้นโค้งไปมาเหมือนลูกคลื่นหรือระรอกน้ำ ห่างกันบ้าง ชิดกันบ้าง บางเส้นกระทบกับก้อนหิน เมื่อมองดูแล้วจะเกิดความรู้สึกว่ามีเกาะหรือโขดหินโผล่ขึ้นมาจากทะเลหรือ มหาสมุทร ข้อสังเกตของสวนแบบนี้คือ ไม่มีต้นไม้เป็นส่วนประกอบ และปราศจากน้ำ ซึ่งแม้แต่สักหยดเดียวก็ไม่มี

จัดสวนสไตล์ญี่ปุ่น : สวนภูเขา Hill gardens

สวนภูเขา หรือที่เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่าTsukiyama-Sansui ซึ่งเป็นหนึ่งในสามของการจัดสวนสไตล์ญี่ปุ่นนี้ บางทีก็เรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "The landscape garden with hills and water" ค่ะ

อาจจะเรียกได้ว่า การจัดสวนสไตล์นี้เป็นสวนเลียนแบบธรรมชาติ ที่ตกแต่งตามแนวคิดความคิดของพระในศาสนาชินโต หรือที่เรียกว่า Shinden styles   นั่นเอง



สวนภูเขา

สวนภูเขา จะประกอบด้วยภูเขาหรือเนินดินสลับกับที่ราบ มีน้ำตก ลำธาร สระน้ำ โขดหิน หาดทราย ถ้าเป็นส่วนที่มีขนาดใหญ่ อาจมีเกาะกลางทะเลสาบประกอบด้วย

สำหรับการเลือกพันธุ์ไม้ประดับ ที่ใช้ประดับในสวนแบบนี้ สามารถเลือกพันธุ์ไม้ได้หลายชนิดค่ะ อาทิเช่น
       
พันธุ์ไม้ใหญ่ ต้นสน พืช พลับ โอ๊ก เมเปิล ซากุระ หลิว ฯลฯ
พันธุ์ไม้พุ่มเตี้ย เช่น ไผ่ อาซาเลีย ปรง ชา ฯลฯ
พืชคลุมดิน เช่น เฟิร์น ไม้ซุ้มต่าง ๆ มอส ฯลฯ
พันธุ์ไม้น้ำ เช่น กก บัว ไอริส ฯลฯ




สระน้ำหรือลำธารในสวนภูเขานี้ มักจะไม่ลึกนัก ในน้ำใสสะอาดนอกจากจะมองเห็นก้อนหิน ก้อนกรวดที่ก้อนสระหรือก้นลำธารแล้ว ยังสามารถมองเห็นปลาแฟนซีคาร์พหลากสีสวยงาม ว่ายวนเวียนไปมาทำให้มีระลอกน้ำ เมื่อมองดูแล้วจะเกิดความรู้สึกว่ามีชีวิตชีวามากขึ้น




ลำธารถ้ามีความกว้างมากก็จะทำสะพานสำหรับข้ามค่ะ โดยใช้แผ่นหินสกัดที่มีความโค้งเล็กน้อยวางพาดขวางลำธาร ริมตลิ่งทั้ง 2 ฝัง  2 ฝั่งจะฝังก้อนหินรูปทรงสูงเอาไว้ สมมุติว่าเป็นเสาสะพาน แต่ถ้าลำธารแคบและตื้น   หากใช้ก้อนหินที่มีผิวด้านบนเรียบวางไว้เป็นระยะ ๆ ห่างกันพอดีกับระยะก้าวเพื่อใช้เดินข้ามลำธาร   ริมคันตลิ่งอาจป้องกันมิให้ตลิ่งพัง โดยฝังก้อนหินก้อนใหญ่/เล็กไว้อย่างกลมกลืนเหมือนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือฝังไม้เสากรมทั้งเปลือกหรือปลูกหญ้าเพื่อยึดก็ได้


 

ถ้าสระน้ำมีขนาดกว้างขวาง มักจะจัดให้มีเกาะอยู่กลางสระน้ำ บนเกาะอาจประดับด้วยก้อนหินเมื่อมองไกล ๆ มีรูปร่างคล้ายเต่า ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นศิริมงคลแก่บ้าน เพราะคนญี่ปุ่นถือว่าเต่าเป็นสัญลักษณ์ของการมีอายุยืน นอกจากนั้นมักจะปลูกต้นสนไว้บนเกาะด้วย โดยถือว่าต้นสนเป็นสัญลักษณ์ของความมั่นคงถาวร เพราะต้นสนทนต่ออากาศอันหนาวเย็นได้

การปลูกต้นไม้   ปลูกต้นที่มีพุ่มใบสูงเป็นฉากไว้ด้านหลัง เพื่อไม่ให้บังต้นไม้ที่มีพุ่มใบเตี้ย สวนญี่ปุ่นจะไม่ปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้ใกล้บ้านเพื่อไม่ให้บดบังความงามของสวน เมื่อมองออกไปจากตัวบ้าน สีของพันธ์ไม้นิยมสีที่ไม่ฉูดฉาดนัก โดยปกติจะเป็นสีเขียว จะออกดอกหรือใบเปลี่ยนสีเพิ่มสีสรรบ้างก็ตามฤดูกาลเท่านั้น

ผิวดินไม่ว่าจะเป็นเนินดิน  ในที่ราบหรือใต้ร่มไม้ส่วนใหญ่จะมีหญ้าหรือมอสขึ้นปกคลุมอย่างเขียวขจี เหมือนปูด้วยพรม ความยิ่งใหญ่ของสวนภูเขาหรือสวนเนินอยู่ที่ภูเขา/เนินดิน น้ำตก ลำธาร ซึ่งเลียนแบบธรรมชาติอย่างแท้จริง คือพื้นที่เป็นเกาะของประเทศญี่ปุ่นนั่นเอง โดยทำการดัดแปลงและย่อส่วนให้เล็กลง




ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

สวนสไตล์ญี่ปุ่น

สวนญี่ปุ่น เป็นการจัดสวนแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นแบบฉบับของญี่ปุ่นเองโดยเฉพาะค่ะ เป็นการจัดสวนที่มีรูปแบบแตกต่างจากการจัดสวนของประเทศทางยุโรป สวนญี่ปุ่นมีความหมายอันลึกซึ้งเกี่ยวกับความงามตามธรรมชาติ  ศาสนา ลัทธิ ประเพณี ปรัชญา ความนึกฝัน ศิลปวัฒนธรรมและแฝงด้วยความเชื่อถือในโชคลาง



สวนญี่ปุ่น

การจัดสวนแบบญี่ปุ่นได้ รับอิทธิพลมาจากชาวจีน และชาวเกาหลีค่ะ แต่ได้มี การปรับปรุงและพัฒนาทำให้มีรูปแบบธรรมชาติ มีศิลปะ มีสัญลักษณ์ต่าง ๆ  ซึ่งมีความหมายเฉพาะตัวแฝงเร้นด้วยปรัชญา ลัทธิ ประเพณีทางศาสนา การนึกฝัน และมีความสุนทรีย์แห่งธรรมชาติ สวนญี่ปุ่นจึงมองดูมีชีวิต จิตใจและวิญญาณ   เต็มไปด้วยมุมมองของศิลปะ ซึ่งนับวันความนิยมในการจัดสวนแบบนี้จะยิ่งแพร่หลายออกไปยังประเทศต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น ในประเทศไทยนิยมจัดสวนแบบญี่ปุ่นกันมากเพราะสวนญี่ปุ่นใช้เนื้อที่ในการจัด สวนไม่มากนัก มีความสวยงามอย่างเรียบ ๆ เหมาะกับนิสัยอันอ่อนน้อมและสุภาพของคนไทยอ่ะนะคะ

สวนญี่ปุ่น นั้นเน้นการจัดสวนโดยการวางจุดเด่นของสวนไว้ในที่ที่คนในบ้านสามารถมองเห็น ได้ค่ะ  มุมมองของสวนญี่ปุ่นจึงเป็นมุมมองจากภายในสู่ภายนอก ผิดกับสวนตะวันตกที่มักจะปลูกต้นไม้ชิดอาคาร เพื่อให้ตัวอาคารดูดี หรือเป็นการจัดมุมมองจากภายนอกสู่ภายในเป็นการจัดสวนที่เน้นให้คนภายนอกที่ มองเข้ามาได้ชื่นชมความงามของอาคารนั่นเอง

สวนญี่ปุ่นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1. สวนภูเขา เป็นสวนที่ลอกเลียนแบบธรรมชาติ


สวนภูเขา

2. สวนในที่ราบ เป็นสวนแห่งการสมมุติ


สวนในที่ราบ

3. สวนน้ำชา เป็นสวนที่นำลักษณะเด่นของสวนภูเขาและสวนที่ราบมาผสมกัน ประกอบด้วยสวนย่อมเล็ก ๆ 2 ข้างทางเดินไปสู่เรือนน้ำชา ซึ่งเป็นบ้านชั้นเดียวหลังเล็ก ๆ


สวนน้ำชา

ในตอนหน้าเราจะมาทำความรู้จักกับสวนญี่ปุ่นประเภทต่าง ๆ กันให้ละเอียดมากยิ่งขึ้นนะคะ

ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามชมบล้อกสวนแสนรักด้วยดีเสมอมาค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก http://school.obec.go.th/webpwtk/kosara/k_drra/jun.htm

จัดสวนสไตล์ญี่ปุ่น : สวนน้ำชา

สวนน้ำชา นั้น คือการจัดสวนรอบ ๆ เรือนน้ำชา โดยนำลักษณะเด่นพิเศษของสวนภูเขา มาไว้บางส่วน และนำเอาลักษณะเด่นพิเศษของสวนในที่ราบ แบบเขียวชอุ่มมาอีกบางส่วน จากนั้นก็จัดให้ผสมผสานกันอย่างกลมกลืนค่ะ



สวนน้ำชา

สวนน้ำชา จะมีรั้วด้านนอกเพื่อแสดงขอบเขต ทางเข้าสวนจะมีประตูรูปทรงต่าง ๆ แปลกตา บางแห่งประตูมีหลังคา ที่มุงด้วยแผ่นไม้หรือไม้ไผ่หรือหญ้าคา ทางเดินเข้าสู่เรือนน้ำชาจะปูด้วยหินสกัดแบน หรือเขียงไม้ วางห่างกันพอดีกับก้าวเป็นการป้องกันไม่ให้เยียบพื้นดินซึ่งคุมด้วยหญ้าหรือ มอสสีเขียวขจี สองข้างทางจะจัดแต่งเป็นสวนประดับหิน สลับซับซ้อนเป็นระยะ ๆ


             

พันธ์ไม้ที่นิยมปลูกประดับในสวนน้ำชาประกอบด้วยพันธุ์ไม้หลายชนิด อาทิเช่น
             
-ไม้ยืนต้น ชนิดที่มีกิ่งก้านและใบหนา ทึบ เช่น พีช เมเปิล โอ๊ค ส่วนชนิดที่มีกิ่งก้านและใบโปร่ง เช่น สนญี่ปุ่น หลิว ไผ่
             
-ไม้พุ่ม นิยมตัดแต่งเป็นพุ่มกลม หรือรูปไข่เพื่อให้กลมกลืนกับก้อนหิน เช่น อาซาเลีย ชาดัด
             
-ไม้ดัด ประเภทบอนไชหรือไม้แคระซึ่งดัดหรือตัดแต่งให้มีลีลาเหมือนไม้ต้นใหญ่แต่ย่อส่วนให้เล็กลง
             
-ไม้น้ำ มีทั้งปลูกกลางสระน้ำ และบริเวณ ริมตลิ่ง เช่น บัง กก ไอริส
             
-พืชคลุ่มดิน คือพื้นที่ที่มีความสูงไม่เกิน 1 ฟุต ปลูกไว้บริเวณใกล้ก้อนหินหรือตอไม้ เพื่อให้เหมือน หรือใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเพื่อเชื่อมต่อกับสวนหย่อมที่ อยู่ข้างเคียง เช่น เฟิร์น ไม้ซุ้มต่าง ๆ


              

การจัดสวนในมุมนี้ นอกจากจะมีลักษณะการจัดวางต้นไม้และวัตถุจนได้สัดส่วนกันแล้ว สิ่งที่โดดเด่นก็คือ วัตถุต่าง ๆ ที่ใช้ประดับภายในบริเวณสวน ซึ่งล้วนแต่เป็นสัญลักษณ์ของญี่ปุ่นที่แปลกตาไม่ซ้ำแบบใครอ่ะนะคะ มีการเคลื่อนไหวของน้ำ ที่หยดและไหลริน กิ่งไม้และใบไม้โอนเอียงไปมาเมื่อต้องกระแสลม มีแสงริบหรี่จากตะเกียงหินในยามค่ำคืน ทำให้บริเวณดังกล่าวนี้มีชีวิตชีวายิ่งขึ้น

ส่วนประกอบที่สำคัญของสวนน้ำชา มีดังต่อไปนี้นะคะ

-ตะเกียงหิน สำหรับใช้ประดับในตอนกลางวันและให้มีแสงสว่างในตอนกลางคืน
               
-อ่างน้ำ สำหรับใช้เพื่อล้างมือล้างหน้าหรือบ้วนปากก่อนเข้าพิธี (มีกระบวยไม้ไผ่ด้ามยาวสำหรับตักน้ำวางพาดไว้ที่ปากอ่าง)
               
-หินก้อนใหญ่ สำหรับใช้จับยึดหรือสิ่งของระหว่างล้างมือ ล้างหน้า หรือบ้วนปากและสมมุติว่าเป็น "เกาะ"
               
-แผ่นทางเดิน วางคดเคียวไปมาห่างกันพอดีกับระยะก้าวเพื่อใช้เป็นแนวทางนำไปสู่อ่างน้ำ เรือนน้ำชา และชมความงามของสวน
               
-รั้วไม้โปร่ง เป็นรั้วไม้ไผ่หรือกิ่งไม้ประกอบอย่างง่าย ๆ ใช้เป็นฉากหลังเพื่อประดับหรือแบ่งขอบเขตของสวน
               
-ต้นไม้ ใช้ต้นไม้หลายชนิด ต้นไม้ใหญ่ควรมีกิ่งใบโปร่ง เช่น หลิว สนญี่ปุ่น ไผ่ ไม้พุ่ม มักตัดเป็นรูปทรงกลม หรือรูปไข่ ให้กลมกลืนกับก้อนหิน เช่น ชา อาซาเลีย พืชคลุมดิน ปลูกเป็นกลุ่มใหญ่ข้างก้อนหิน เช่น เฟิร์น ไม้ซุ้มต่าง ๆ ด้านหน้า ใกล้ ๆ ตะเกียงหิน จะมีไม้ดัดแคระหรือบอนไซ ปลูกไว้ กิ่งก้าน และใบมักจะบังตะเกียงหินไว้บ้างบางสวน
               
สวนแบบนี้บางแห่งอาจมีน้ำไหลหรือหยดน้ำจากท่อไม้ไผ่ลงอ่างน้ำตลอดเวลาจนมี น้ำล้น บริเวณพื้นข้างอ่างน้ำจึงต้องโรยกรวดเอาไว้ เพื่อให้บริเวณนั้นแลดูสะอาดตา และสมมุติว่าเป็น "ทะเลหรือมหาสมุทร" นั่นเองนะคะ




 ภาพประกอบจาก อินเตอร์เน็ต

หลักการจัดสวนแบบญี่ปุ่น

หลักการจัดสวนแบบญี่ปุ่น มีดังนี้

1.) สวนญี่ปุ่น นั้นมีหลักเกณฑ์แบบแผนแน่นอน มีชื่อเฉพาะในแต่ละแบบสร้างสวนรอบ ๆ  ตัวบ้านและไม่นิยมปลูกต้นไม้ติดตัวบ้าน ซึ่งโดยทั่วไปนิยมจัดสวนไว้ทางทิศใต้ของตัวบ้าน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วนะคะ ว่า สวนญี่ปุ่น จะวาง ตำแหน่งจุดเด่นของสวน (Highlight) ไว้ในที่ซึ่งคนในบ้านสามารถมองเห็นได้ ตามคติการจัดสวนแต่โบราณ คือเอาคนในบ้านเป็นหลัก หรือจะเรียกได้ว่าจัดสวนเพื่อดูเอง ดังนั้นมุมมองของสวนญี่ปุ่นจึงเป็นการมองจากภายในสู่ภายนอก ผิดกับสวนของชาวตะวันตกซึ่งมีลักษณะตรงกันข้าม คือ จะปลูกต้นไม้ชิดอาคารเพื่อให้อาคารดูดี ดูเด่น และดูสวย โดยไม่คำนึงถึงมุมมองจากในบ้าน แต่คำนึงถึงมุมมองของผู้คนที่อยู่นอกอาคารจะได้ชื่นชมและทำให้เจ้าของบ้าน ภาคภูมิใจ คือจัดโชว์ชาวบ้าน หลักการทั้งสองนี้แตกต่างกันแบบตรงกันข้าม ฉะนั้นการจัดสวนทั้งสองแบบก็ย่อมต่างกันค่อนข้างมากค่ะ





2.) สวนต้องสร้างทางทิศใต้ของตัวบ้าน




3.) กระแสน้ำในลำธารจะต้องไหลจากทิศตะวันออกไปสู่ทิศตะวันตก 

เพราะเชื่อว่าทิศตะวันออกเป็นทิศบริสุทธิ์จะนำสิ่งมลคลเข้าบ้าน ส่วนทิศตะวันตกก็จะนำพาสิ่งไม่เป็นมงคลออกจากตัวบ้านไปอ่ะนะคะ


         

4.) สวนญี่ปุ่นจะต้องมีภูเขาหรือเป็นเนินดิน สลับกับพื้นที่ราบอาจจะมีน้ำตก สระน้ำ  
ลำธาร ฯลฯ โดยย่อส่วนลงมาจัดไว้ในสวนทั้งหมด มีตะเกียงหิน 

         


5.) การจัดต้นไม้จะต้องจัดให้เลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุด แต่ไม้พุ่มนิยมตัดแต่ง 
เป็นพุ่มกลม ๆ ล้อเลียนลักษณะของหิน  


         

6.) นำประเพณี วัฒนธรรม ปรัชญาต่าง ๆ ลัทธิทางศาสนา เข้ามารวมอยู่ในสวน  เน้นความร่มรื่นเงียบสงบไม่ใช้ไม้ดอกที่มีสีสันสะดุดตา นิยมใช้พันธุ์ไม้ที่มีสีเขียวตลอดปี ไม้แคระ  และนิยมใช้สนเป็นฉากด้านหลัง





 


 
Design by Free WordPress Themes | Bloggerized by Lasantha - Premium Blogger Themes | cheap international calls